ข่าวเกี่ยวกับคณะ
default-header-01
obj-3@2x
obj-1
obj-g-1

ข่าวเกี่ยวกับคณะ

  • 28 ก.พ. 2024
  • 260 Views
นิสิต GIS รับรางวัลเกียรติบัตรดีเยี่ยม
นิสิตสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับรางวัลเกียรติบัตรดีเยี่ยม ด้านนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ (GI) ภายในงาน TSG ครั้งที่ 16

          คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ขอแสดงความยินดีกับนายสายฟ้า ศรุตเรืองชัย นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ ที่ได้รางวัลเกียรติบัตรดีเยี่ยม (Certificate of Excellence) จากผลงานเรื่อง “การประยุกต์ใช้กูเกิ้ลแอปชีตสําหรับงานสวัสดิการสังคมขององค์การบริหารส่วนตําบลเข็กน้อย อําเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภพ แพงวังทอง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ในการนําเสนอปากเปล่า กลุ่มนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ (GI) ภายในการประชุมวิชาการนิสิตนักศึกษาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          การประชุมวิชาการนิสิตนักศึกษาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศแห่งประเทศไทย เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศได้แสดงผลงานทางวิชาการในรูปแบบการบรรยาย (Oral Presentation) และการนำเสนอด้วยโปสเตอร์ (Poster Presentation) นอกจากนั้นยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างอาจารย์และนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาในแต่ละสถาบันได้เปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ ตลอดจนเสริมสร้างมิตรภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ (GI) เป็นงานวิจัยทางด้านการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้แนวคิดทางด้าน การประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่บนคลาวด์แพลตฟอร์ม (Geospatial cloud computing) การเขียนโปรแกรมทางภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics programming) ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Database) การใช้งานอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งเชิงพื้นที่ (Spatial Internet of Things: IoTs) การประมวลผลข้อมูลภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big data) ระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงพื้นที่ (Spatial Decision Support System) การพัฒนาแบบจำลองเชิงพื้นที่ (Spatial modeling development) หรือโลกเสมือนจริงดิจิทัล (Digital Twin) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ