ข่าวเกี่ยวกับคณะ
default-header-01
obj-3@2x
obj-1
obj-g-1

ข่าวเกี่ยวกับคณะ

  • 19 ก.ย. 2023
  • 273 Views
หารือหลักสูตรโท-เอก ผลิตกำลังคนคุณภาพสูง
คณะ ICT ม.พะเยา ร่วมกับ GISTDA และ สสน. พัฒนาหลักสูตรวิทยาการข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geo Spatial Data Science) เตรียมผลิตกำลังคนคุณภาพสูง

            เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมประชุมหารือ พิจารณาแนวทางการจัดทำหลักสูตรร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ภายใต้โครงการ “ธัชวิทย์” หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทย์สมรรถนะสูง นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดี พร้อมด้วย ดร.นภา ราชตา รองคณบดีฝ่ายวิชาการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิราพร ไชยวงศ์สาย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และดร.สวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข ประธานหลักสูตรภูมิสารสนเทศศาสตร์

          ซึ่งโครงการ “ธัชวิทย์” หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัย มาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ และฐานการพัฒนาคนที่เข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก และนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontline Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)

          ในส่วนของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดทำหลักสูตรวิทยาการข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geo Spatial Data Science) ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยคาดว่าจะเปิดทำการเรียนการสอนในช่วงปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นหลักสูตรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา กับองค์กรภายนอก เพื่อผลิตกำลังคนคุณภาพสูง ให้สอดคล้องกับความต้องการและยกระดับความสามารถของสถาบันวิจัยแห่งชาติ ภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของประเทศในสาขาเฉพาะด้าน