University of Phayao

Digital Collections

ฐานข้อมูลคลังปัญญา มหาวิทยาลัยพะเยา จัดทำโดยศูนย์บรรณสารและการเรียนรู้ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดเก็บและเผยแพร่ผลงานของคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต ของมหาวิทยาลัยพะเยา

นโยบายการรับผลงานการรับผลงานเข้าสู่ฐานข้อมูลคลังปัญญา มหาวิทยาลัยพะเยา จะคัดเลือกรับผลงานประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • Theses วิทยานิพนธ์
  • Dissertations ดุษฎีนิพนธ์
  • Independent Study รายงานการค้นคว้าอิสระ
  • Technical Report รายงานการวิจัย
  • Journal Paper บทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในบทความวารสาร
  • Bachelor’s Project ปัญหาพิเศษนักศึกษาปริญญาตรี
  • Patents สิทธิบัตร
  • Local Information Phayao Province ข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดพะเยา
  • University of Phayao Archives จดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพะเยา

ติดต่อสอบถามข้อมูลหรือส่งผลงานได้ที่ UPDC Support.

Photo by @inspiredimages
 

Recent Submissions

Item
ภาพแทนนักโทษผ่านสารคดีไทยในรอบ 2 ทศวรรษ (พ.ศ. 2540-2559)
(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2021) อธิพงษ์ เพ็ชรเกิด
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการประกอบสร้างความเป็นนักโทษผ่านภาษา และศึกษาภาพแทนนักโทษที่ปรากฏในงานเขียนสารคดีไทยในรอบ 2 ทศวรรษ (พ.ศ. 2540-พ.ศ. 2559) ด้วยกรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis–CDA) ของแฟร์เคลาฟ์ (Fairclough) และกรอบแนวคิดเรื่องภาพแทนของสจ๊วต ฮอลล์ (Hall) โดยศึกษาข้อมูลจากงานเขียนสารคดีไทยในช่วง พ.ศ. 2540-2559 จากนักเขียนจำนวนสามกลุ่ม คือ กลุ่มนักเขียนสารคดี กลุ่มนักเขียนที่เป็นนักโทษหรือเคยเป็นนักโทษ และกลุ่มนักเขียนที่เป็นผู้คุมเรือนจำ ผลการศึกษาพบว่า นักเขียนทั้งสามกลุ่มประกอบสร้างความเป็นนักโทษผ่านกลวิธีทางภาษา จำนวน 11 กลวิธี ได้แก่ กลวิธีการใช้คำศัพท์หรือวลี กลวิธีการใช้ประโยคแสดงเหตุผล กลวิธีการใช้มูลบท กลวิธีการใช้ความเปรียบ กลวิธีการใช้สหบท กลวิธีการใช้คำแสดงทัศนภาวะ กลวิธีการอ้างถึงส่วนใหญ่ กลวิธีการใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ กลวิธีการซ้ำประโยค กลวิธีการใช้โครงสร้างประโยคแสดงความสัมพันธ์ และกลวิธีการใช้เรื่องเล่า การประกอบสร้างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของนักโทษได้ถูกตีความและนำเสนอแตกต่างกันออกไปตามมุมมองของนักเขียนแต่ละคน ส่วนผลการศึกษาด้านภาพแทนพบว่า นักเขียนทั้งสามกลุ่มสร้างภาพแทนให้แก่นักโทษ จำนวน 6 ลักษณะ คือ ภาพแทนบุคคลอันตราย ภาพแทนนักโทษที่มีความผิดปกติทางจิต ภาพแทนบุคคลที่สังคมไม่ต้องการ ภาพแทนบุคคลที่น่าเวทนา ภาพแทนนักโทษในคราบผู้บริสุทธิ์ที่โชคร้าย และภาพแทนนักโทษที่พร้อมจะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี ซึ่งภาพแทนดังกล่าวนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ให้กับนักโทษในที่สุด
Item
แนวทางการส่งเสริมอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2022) สุธีธรรม กิ่งนันท์สิงห์, ว่าที่ร้อยตรี
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารแบบยั่งยืนในจังหวัดชลบุรี 3) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด (7P's) ที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการในการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรี จำนวน 420 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัย คือ แบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้โปรแกรมทางสถิติ การทดสอบสมมุติฐาน ใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square test T-test One-way ANOVA และวิธีการทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธี Least Significant Difference (LSD) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการวิจัยพบว่า 1) นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ส่วนมากเป็นเพศชาย อายุอยู่ในช่วง 20-24 ปี สถานภาพโสดมีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ประกอบอาชีพ นิสิต/นักศึกษา และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน 2) ปัจจัยที่มีผลการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสถานที่ท่องเที่ยว ด้านความปลอดภัย และด้านการเป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียง 3) ส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อการส่งเสริมอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลากร (People) ด้านกระบวนการให้บริการ (Process) และด้านผลิตภัณฑ์ (Product) และทางผู้วิจัยได้ทำการออกแบบ CITE Model ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางการส่งเสริมอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้แก่ C (Competition) การจัดการแข่งขันทำอาหารในชุมชน I (Information) การจัดทำสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการแนะนำการท่องเที่ยวชุมชน T (Teaching Class) การจัดกิจกรรมสอนประกอบอาหารท้องถิ่น E (Exhibition) การจัดนิทรรศการอาหารท้องถิ่น
Item
การศึกษาบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมคุณลักษณ์อันพึงประสงค์ในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2021) ธีร์วรา ใจเย็น
การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูที่ผู้สอนในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 451 คน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูที่ผู้สอนในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จำนวน 211 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า 1) บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์มากที่สุด คือ ด้านการประพฤติเป็นแบบอย่าง รองลงมา คือ ด้านการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่ำสุด คือ ด้านการอบรมสั่งสอน 2) ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในสถานศึกษา อำเภอแม่ฟ้าหลวง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน เรียงลำดับความถี่จากมากที่สุดไปน้อยที่สุด พบว่า ด้านที่มีความถี่มากที่สุด คือ ด้านการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา รองลงมา คือ ด้านการอบรมสั่งสอน ตามลำดับ ส่วนด้านที่มีความถี่น้อยที่สุด คือ ด้านการกำหนดนโยบาย
Item
ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2022) ธัญรัตน์ จันทร์คำ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 2) เพื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จำแนกตามวุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนสถานศึกษาในโรงเรียนในเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จำนวน 88 คน โดยกำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครจซี่และมอร์แกน และใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม ผลการวิเคราะห์หาค่าดัชนีความสอดคล้องได้ 1.00 และได้ค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับ 0.73 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ใช้สถิติหาค่าการทดสอบค่าเอฟ (F-test) กรณีที่พบความแตกต่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จะใช้วิธีการวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ วิธีของเชฟเฟ่ (Sheffe's method) ผลการวิจัยพบว่า 1) ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านการบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างมีจริยธรรม มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านการบริหารความสัมพันธ์อย่างมีจริยธรรม มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก และด้านการบริหารงานอย่างมีจริยธรรม มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ ซึ่งเป็นด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 2) การเปรียบเทียบภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาในกลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาดอยสันติคีรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่า โดยภาพรวมมีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบรายด้าน มีความแตกต่าง อยู่ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหารงานอย่างมีจริยธรรม และด้านการบริหารความสัมพันธ์อย่างมีจริยธรรม และภาวะผู้นำเชิงจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามประสบการณ์การทำงาน ทั้งภาพรวมและรายด้านไม่มีความแตกต่างทั้ง 3 ด้าน
Item
ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ของกลุ่มชาติพันธุ์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
(มหาวิทยาลัยพะเยา, 2022) สมปรารถนา ทรายหมอ
การศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการจัดการตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินของกลุ่มชาติพันธุ์ และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินของกลุ่มชาติพันธุ์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กลุ่มตัวอย่าง 192 คน ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบเก็บข้อมูล 1 กุมภาพันธ์ - 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ด้วยสถิติ multiple regression ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการจัดการตนเอง ด้านการรับประทานอาหาร และด้านการรับประทานยา อยู่ในระดับสูง (76.0%, 75.0%) และการจัดการตนเอง ด้านการออกกำลังกาย และด้านการจัดการความเครียด อยู่ในระดับปานกลาง (51.0%, 52.6%) ปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการตนเองมี 3 ปัจจัย คือ การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน (P <0.001) ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน (P < 0.001) และการรับรู้ประโยชน์ของการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน (P = 0.001) เขียนเป็นสมการในการทำนายดังนี้ คือ คะแนนการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน = 45.488 + 0.:703 (การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน) + 0.707 (ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน) + 0.615 (การรับรู้ประโยชน์ของการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน) ได้ 33.9% (Adj.R2 = 0.339, p < 0.001) ผลการศึกษาที่ได้ควรใช้ในการวางแผนการส่งเสริมพฤติกรรม การจัดการตนเองในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน การเพิ่มการรับรู้สมรรถะแห่งตน และการรับรู้ประโยชน์ของการจัดการตนเองต่อโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานต่อไป