ข่าวเกี่ยวกับคณะ
default-header-01
obj-3@2x
obj-1
obj-g-1

ข่าวเกี่ยวกับคณะ

  • 15 ม.ค. 2020
  • 341 Views
เปิดการแข่งขัน TESA TOP GUN RALLY ครั้งที่ 14
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย เปิดการแข่งขันประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 11 มกราคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา

         

        เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมเมืองพะเยา อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ได้มีการเปิดการแข่งขันประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 14 ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ระหว่างวันที่ 5 – 11 มกราคม 2563 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย เป็นผู้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ จากนั้น ดร.วรกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจ NGDC บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT Telecom) เป็นผู้กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการ ในส่วนของมหาวิทยาลัยพะเยาซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในครั้งนี้ มีดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน จากนั้นรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานกล่าวให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและกล่าวเปิดงานฯ

          สำหรับโจทย์การแข่งขัน TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 14 ในปีนี้ คือ "ระบบติดตามเฝ้าระวังและจัดการสุขภาวะแก่ผู้สูงวัยและประชาชนทั่วไป" (Health Monitoring and Management Systems for Elderly and All Kinds of People) จะเป็นการพัฒนาต้นแบบระบบสมองกลฝังตัว ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล  ในรูปแบบของอุปกรณ์ติดตัวบุคคล ที่จะส่งข้อมูล สถานการณ์ที่สำคัญไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล โดยใช้เช็นเซอร์และอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่อยู่ในตัวเครื่อง ส่งข้อมูลไปยังเกตเวย์ที่อยู่ใกล้เคียงก่อนส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ และแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นโจทย์ประยุกต์ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบจำลองเหมือน Smart Senior Complex ที่มีอุปกรณ์ติดตัวผู้สูงอายุสำหรับเฝ้าติดตามสุขภาพร่างกาย และระวังอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งสามารถแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลล่วงหน้าหรือทันท่วงที อีกทั้งมีการแจ้งเตือนข้อมูลการทำนายสภาพแวดล้อมจากส่วนกลางที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น กระแสลม หมอกควัน ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุโดยตรงในแต่ละพื้นที่

            ซึ่งมีนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ กว่า 20 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 37 ทีม รวม 183 คน และมีคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นจำนวนมาก