ข่าวเกี่ยวกับคณะ
default-header-01
obj-3@2x
obj-1
obj-g-1

ข่าวเกี่ยวกับคณะ

  • 23 ธ.ค. 2020
  • 375 Views
คณะ ICT รายงานความก้าวหน้า โครงการ 1 คณะ 1 โมเดล
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา รายงานความก้าวหน้า โครงการ 1 คณะ 1 โมเดล Smart People - Smart Community นำร่องพื้นที่หมู่ 11 ตำบลแม่กา พร้อมขยายพื้นที่การใช้ระบบฐานข้อมูลให้ครบในพื้นที่ชุมชนตำบลแม่กาในอนาคต

             เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์ หมู่ 11 บ้านแม่ต๋ำบุญโยง ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา รายงานความก้าวหน้า “โครงการการพัฒนาศักยภาพชุมชนบนฐานการทำงาน ตามโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ของมหาวิทยาลัยพะเยาสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรม ภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาคนสู่ชุมชนอัจฉริยะ (Smart People - Smart Community)” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ผณินทรา ธีรานนท์ คณะศิลปศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พยุงศักดิ์ อินต๊ะวิชา คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กาญจนุรัตน์ ไมรินทร์ คณะนิติศาสตร์ เป็นคณะกรรมการตรวจติดตามและร่วมซักถาม พร้อมให้ข้อเสนอแนะ โดยมีผู้นำชุมชน และ ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมรับฟังการนำเสนอ

          ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า “โครงการ 1 คณะ 1 โมเดล เป็นโครงการที่ทางคณะฯ มุ่งเน้นในการร่วมมือกับชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ดังปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” ซึ่งได้ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน/พื้นที่ เทศบาลตำบลแม่กา ผ่านโครงการยกระดับระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารเทศบาลตำบลแม่กา ระหว่างคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชุมชน และเทศบาลตำบลแม่กาอย่างยั่งยืน”

          และทางด้าน ดร. สวรินทร์ ฤกษ์อยู่สุข หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ ชัยแก้ว และ ดร.นิติ เอี่ยมชื่น ผู้ร่วมโครงการการพัฒนาคนสู่ชุมชนอัจฉริยะ (Smart People - Smart Community) กล่าวว่า "โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดทำขึ้น เพื่อจัดทำแผนชุมชนเชิงคุณภาพจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ผ่านการสังเคราะห์คุณค่าข้อมูลทรัพยากรชุมชน ครอบคลุมมิติทางการก่อสร้าง (Construction Perspective) มิติทางสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Perspective) และมิติทางสิ่งแวดล้อม (Eco-efficiency Perspective) บนพื้นฐานความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรชุมชน ภูมิปัญญา การพึ่งตนเอง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชุมชน หมู่บ้านแม่ต๋ำบุญโยง หมู่ 11 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา เป็นพื้นที่ต้นแบบ ที่มุ่งเน้นด้านต้นแบบชุมชนอัจฉริยะอย่างน้อย 1 ชุมชน/หมู่บ้าน และมีนวัตกรในชุมชนอย่างน้อย 1 คน สำหรับดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดทำการพัฒนาความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะดำเนินการรวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีแผนจะขยายพื้นที่ในการใช้ระบบฐานข้อมูล และพัฒนาชุมชนอัจฉริยะให้ทั่วถึงในเขตพื้นที่ตำบลแม่กา ต่อไปในอนาคต"

 

นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง (นักประชาสัมพันธ์) : ข่าว/ภาพ