ข่าวเกี่ยวกับคณะ
default-header-01
obj-3@2x
obj-1
obj-g-1

ข่าวเกี่ยวกับคณะ

  • 1 ต.ค. 2021
  • 360 Views
เข้ารอบ 5 ทีม "ส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain" ระดับภาคเหนือ
นิสิตสาขา GIS คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ เป็น 1 ใน 5 ทีมภาคเหนือ เข้าชิงแชมป์ประเทศไทย ในโครงการฝึกอบรมและส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain สำหรับใช้ในเชิงธุรกิจ

                นิสิตสาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ในระดับภาคเหนือ ในโครงการฝึกอบรมและส่งเสริมเทคโนโลยี Blockchain สำหรับใช้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจัดขึ้นโดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา แบ่งการอบรมออกเป็น 2 ช่วง ในวันที่ 31 กรกฎาคม เป็นการอบรมผู้เข้าร่วมกิจกรรม และให้ผู้เข้าร่วมคิดวางแผนธุรกิจ พร้อมสร้างโมเดลแอพลิเคชันจากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม เป็นการนำเสนอผลงานที่ได้วางแผนไว้ โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันในระดับภาคเหนือ จำนวน 13 ทีมด้วยกัน เพื่อคัดเลือกตัวแทนแต่ละภูมิภาคเข้าไปแข่งขันในระดับประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

          เกณฑ์การพิจารณาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ พิจารณาจากความน่าสนใจของ Blockchain Business Model โดยเป็นรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน, มีประโยชน์ต่อสังคม สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าสามารถส่งผลต่อสังคมและประเทศชาติในวงกว้าง และพิจารณาจากรูปแบบของ Blockchain Business Model สามารถนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังมองถึงความสามารถในการนำเสนอ สามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วนในเวลาที่กำหนด

          ซึ่งทีมที่ผ่านเข้ารอบ ระดับภาคเหนือ คือ ทีม Genius มีสมาชิกในทีม ดังนี้ นางสาวกรรณิการ์  เม้ามูล  นางสาวชัชชฎาวัลล์  ชิลคีรี และนายสหัสวรรษ งามทรง นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิติ เอี่ยมชื่น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ชื่อผลงาน “แอพพลิเคชั่น PT JOB” เป็นเเอพพลิเคชันที่รวบรวมแหล่งงาน Part-Time ไว้ เพื่อให้ง่ายต่อผู้ประกอบการเเละนักศึกษาที่ต้องหารายได้เสริมรวมไปถึงได้รับประสบการณ์และทักษะ ในการทำงาน ที่ประเมินโดยผู้ประกอบการที่เคยใช้บริการ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกพนักงานตามคุณสมบัติได้ตามความต้องการ เเละถ้าผู้ให้บริการไม่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน สามารถเรียนรู้ทักษะได้จากตัวแอพพลิเคชั่น รวมไปถึง มีการบันทึกประวัติข้อมูลการทำงาน ประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ ทำให้เเอพพลิเคชันมีความน่าเชื่อถือ สะดวก เเละง่ายต่อการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีทีมที่ผ่านเข้ารอบจากแต่ละภูมิภาคเข้าไปแข่งขันในระดับประเทศ จำนวน 20 ทีม เพื่อชิงทุนการศึกษารวมกว่า 240,000 บาทต่อไป

 

นางสาวมยุเรศ แสงสว่าง (นักประชาสัมพันธ์) : ข่าว/ภาพ